“สัมภาษณ์งานไปเป็นสิบ แต่ไม่ผ่านสักที่เลยค่ะพี่…”
หลายคนเคยมีประสบการณ์แบบนี้กันใช่ไหม?
แอดมินรู้ แอดมินเห็น เพราะมีหลายๆ คนถามกันเข้ามาใน inbox บ่อยๆ โดยเฉพาะน้องๆ ที่เพิ่งจบใหม่
จริงๆ แล้ว ถ้าเราถูกเรียกสัมภาษณ์นั่นหมายความว่า
เรามาโอกาสที่จะได้งานมากถึง 60% แล้วค่ะ
ถ้าเป็นรายการ MasterChef คุณก็เป็นตัวเต็งคนที่จะได้รางวัลแล้วล่ะ
แต่!! อย่าลืมว่า รางวัลนั้นมีเพียงแค่ #หนึ่งเดียว
ดังนั้น ถ้าอยากเป็นอันดับต้นๆ ในใจผู้สัมภาษณ์ และเดินเฉิดฉาย ประหนึ่งชมพู่ไปเมืองคานส์
ควรอ่านให้จบแล้วรีบนำไปประยุกต์ใช้ด่วนๆ ค่ะ (ยาวมาก แต่คุ้ม!! ถ้าอ่านไม่ไหว แชร์ไว้ก่อนเลยจ้า)
#รู้เขา
หมดยุคท่องวันเดือนปีก่อตั้งหรือชื่อผู้บริหารไปบรรยายเป็นนกแก้วนกขุนทองแล้วค่ะ
วันนี้สิ่งที่คุณควรทำมาเป็นการบ้านก่อน คือ เข้าใจความเป็นมาและสิ่งที่จะเป็นไปขององค์กร รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันในตัวงานนั้นๆ ด้วย ลองคาดการณ์ไว้ก่อน ว่าจะมีคำถามอะไรบ้างแล้วเตรียมคำตอบไว้
เช่น หากผู้สัมภาษณ์ถามคุณว่า “คุณคิดว่าสถานการณ์ของสินค้าตัวนี้เป็นอย่างไร และคิดว่าจะเข้ามาช่วยได้อย่างไร”
#รู้ตน
บ่อยครั้งมากกกกกกค่ะ เราค้นพบผู้สมัครที่มีประวัติและประสบการณ์ที่ตรงกับคุณสมบัติงาน แต่พอได้เสนอโอกาสและนัดสัมภาษณ์แล้ว… “ผู้สมัครมึน”
อาการมึนในที่นี้ ยกตัวอย่างเช่น อธิบายเนื้อหางานของตนไม่ถูก ลำดับเรื่องราวไม่เป็น ติดขัดในการตอบคำถาม ฯลฯ
ที่หนักสุดคือ #ขาดเป้าหมาย
ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จงพกความมั่นใจติดตัวไว้
เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง แล้วทำให้ดีที่สุด
เพียงเท่านี้ ก็ไม่ต้องมาเสียใจอะไรภายหลังแล้วค่ะ
#รู้จักโชว์
งัดอาวุธของคุณขึ้นมาอธิบายให้กับคณะกรรมการ ไม่ว่าคุณจะเคยมีผลงานอะไรมา ความสำเร็จ (หรือแม้แต่ทำแล้วไม่สำเร็จก็ตาม) หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่คุณจะไปสัมภาษณ์ อย่าได้พลาดที่จะนำมาให้คณะกรรมการได้พิจารณาเพื่อเห็นผลงานที่ชัดเจน
#พร้อม
ไม่ใช่แค่มีคุณคนเดียวที่ได้ไปสัมภาษณ์ตำแหน่งงานนั้น
แล้วคุณจะทำอย่างไรให้เป็นที่ประทับใจและเป็นที่จดจำของคณะกรรมการได้ล่ะ?
เริ่มตั้งแต่บุคลิกภาพ การวางตัว จนถึงภาพลักษณ์ภายนอกหัวจรดเท้าที่ต้องพร้อม
การแต่งกายยุคนี้ไม่ได้อยู่แค่ เสื้อเชิ้ตเชยๆ กระโปรงสอบ รองเท้าคัทชูสีดำ และรวบผมหางม้าอีกต่อไปแล้ว คุณสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสมัยและจัดให้มี #ความพอดี #ความเหมาะสม กับองค์กรและตำแหน่งงานนั้นๆ ด้วย