สรุปใจความสำคัญจาก Harvard Business Review
กับก้าวต่อไปของ “ผู้จัดการ” สู่ “ผู้นำองค์กร”
การทำงานอย่างหนักและแสดงถึงความตั้งใจในการทำงานอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่จะได้การยอมรับอย่างเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานเท่านั้น แต่บางครั้งมันยังหมายถึงการได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากตำแหน่งที่ดูยิ่งใหญ่อย่าง “ผู้จัดการ” ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะมันยังสามารถปรับเปลี่ยนให้สูงขึ้นไปจนถึงระดับ “ผู้นำ” หรือ “ผู้อำนวยการ” ได้อีกด้วย
เรื่องราวนี้เป็นของ Harald (นามสมมุติ) ชายผู้ซึ่งทำงานด้วยความขยันขันแข็ง และจากตำแหน่งพนักงานทั่วไป จนเป็นหัวหน้างาน และผู้จัดการฝ่าย ไปจนถึงผู้อำนวยการ ที่สุดแล้วก็คือการได้เป็นผู้นำในฐานะ ผู้ดูแลธุรกิจของบริษัทที่มีลูกน้องกว่า 3,000 คน
เพราะอะไรที่ทำให้ชายคนนี้ก้าวมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งเขาก็ได้แนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ทั้งเทคนิคในการดำเนินงาน ปัญหาที่พบเจอ รวมทั้งสิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้
เปลี่ยนจากผู้เชี่ยวชาญ สู่ ผู้มีความสามารถหลากหลาย
สิ่งแรกที่ถือได้ว่าน่าสนใจ และเป็นข้อควรปฏิบัติสำหรับการทำงานในยุคนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงจากผู้เชี่ยวชาญ ไปสู่การเป็นผู้ที่มีความสามารถหลากหลายด้านมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเรื่องของเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญกับการทำงานเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ที่ทำงานมานานหลายปี ซึ่งเรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้น อาจจะมีความสำคัญเพียงแค่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งเท่านั้น
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันกับผู้ที่มีความสามารถหลายด้าน และมีความชำนาญในระดับหนึ่ง จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลายด้าน จะได้รับโอกาสในการทำงานที่มากกว่า ซึ่งนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่ง ของการเดินทางไปสู่ตำแหน่งงานที่โตขึ้น และหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่าการทำงานแต่ละองค์กรย่อมต้องมีหลายฝ่าย และจะดีกว่ามั้ย ถ้าหากว่ามีใครคนหนึ่ง สามารถจัดการกับระบบ และวางแผนงานให้ทุกฝ่าย ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องมากที่สุด
เปลี่ยนจากนักวิเคราะห์ สู่ นักรวบรวมและบันทึกผล
ในการทำงานแต่ละองค์กรนั้น เป้าหมายสูงสุดก็คือการสร้างยอดให้ถึงเป้า และสามารถทำกำไรให้อยู่ในจุดที่ต้องการได้ ซึ่งนี่เองที่ทำให้ผู้นำ ‘ยุคนี้’ ต้องมีมากกว่าสกิลในการวิเคราะห์ผล เพราะลำพังเพียงแค่การวิเคราะห์ หรือคาดการณ์เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้องค์กรเข้าใกล้เป้าหมายได้
ในทางกลับกัน การมีเครื่องมือและเทคโนโลยีมากมาย ก็ทำให้เกิดความชำนาญในเรื่องของการเก็บรวบรวมสถิติ และบันทึกผลต่างๆ เอาไว้ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการเก็บรวบรวมทุกสิ่งที่สำคัญเอาไว้ จะยิ่งต่อยอดให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำมากขึ้นด้วย ทำให้การที่จะเป็นผู้นำได้นั้น ต้องสามารถเก็บรวบรวมบันทึกผลต่างๆ เอาไว้ได้อย่างเรียบง่าย และครบถ้วน รวมทั้งเป็นประโยชน์กับองค์กรด้วย
เปลี่ยนจากนักวางกลยุทธ์ สู่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผน
สำหรับข้อนี้จะต่อยอดมาจากการบันทึกและรวบรวมข้อมูล เพราะอย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่า การเก็บข้อมูลเอาไว้อย่างครบถ้วน และเป็นประโยชน์ ก็ย่อมเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์และวางแผนได้มากขึ้นด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ การเป็นผู้นำในยุคนี้ ต้องมีความเข้าใจ และเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ วางแผนในระดับหนึ่งด้วย
ซึ่งการที่จะทำให้ตัวเองเข้าสู่ระดับความเชี่ยวชาญด้านการวางแผนที่มากขึ้น ก็มาจากการเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวกับการวางแผน การจำลองเหตุการณ์สมมุติที่ช่วยให้เห็นภาพในการวางแผนที่ชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการฝึกแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ทำงานอยู่เป็นประจำ ก็จะช่วยให้ได้ฝึกทักษะด้านการคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบมากขึ้น
เปลี่ยนจากนักสร้าง สู่ นักออกแบบ
ในการทำงานระดับผู้จัดการ ส่วนมากแล้วจะได้รับโอกาสในการสร้างทีมงานในแบบของตัวเอง ซึ่งการสร้างนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานดำเนินไปสู่เป้าหมายได้ง่ายขึ้น โดยถ้าหากมีความชำนาญในการสร้างทีมงานแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้พัฒนามากขึ้น และเพิ่มโอกาสที่จะไปสู่การเป็นผู้นำได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ การออกแบบโครงสร้างของการทำงานนั่นเอง
การออกแบบโครงสร้างของทีมงานในระดับองค์กรนั้น ไม่เพียงแค่การวางแผน หรือวางตำแหน่งงานให้ถูกกับบุคคลเท่านั้น เพราะต้องรวมไปถึงเรื่องการให้ความสำคัญด้านองค์ความรู้ในตำแหน่งงานนั้นๆ แก่พนักงานด้วย เช่น พนักงานขาย ก็ต้องได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้เกี่ยวกับการขาย การรับรองลูกค้า หรือการพูดคุยกับลูกค้า เป็นต้น และเมื่อมีความชำราญในการออกแบบโครงสร้าง รวมทั้งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว โอกาสที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำ ก็ย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
เปลี่ยนจากนักแก้ปัญหา สู่ ผู้กำหนดวาระการประชุม
ตำแหน่งผู้จัดการส่วนใหญ่แล้วจะต้องได้รับวาระการประชุม เพื่อหารือถึงปัญหาและเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอแนวทางในการแก้ปัญหานั้นๆ ซึ่งเมื่อมีความสามารถในการวางแผน วิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้แล้ว ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นผู้กำหนดวาระการประชุมเสียเอง เพราะในทุกๆ การทำงานย่อมต้องมีปัญหาให้แก้ไข และเมื่อเห็นปัญหาได้เร็ว ก็ย่อมหาทางแก้ไขได้เร็วขึ้นด้วย
การปรับเปลี่ยนจากนักแก้ปัญหา มาเป็นผู้กำหนดวาระการประชุมนั้น ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กน้อยเท่านั้น เพราะแม้ว่าจะเป็นผู้จัดการเรื่องวาระการประชุมแล้ว ก็ต้องมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหา รวมทั้งสามารถหาข้อสรุปในการประชุมในแต่ละครั้งให้ได้ด้วย ซึ่งนี่คือคุณสมบัติ ที่ ‘ผู้นำ’ ทุกคนควรจะมี
เปลี่ยนจากนักรบ สู่ นักการฑูต
หากจะเปรียบการทำงานในองค์กรแล้ว พนักงานก็เปรียบเสมือนนักรบที่ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งการเข้าสู่สนามรบมากขึ้น ก็ทำให้มีความชำนาญในการรบมากยิ่งขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด การที่จะเปลี่ยนผันตัวเองจากนักรบไปสู่งผู้นำได้นั้น ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญในการพูด และการวางแผนเพื่อเอาชนะสงครามได้โดยไม่ต้องออกแรงให้มาก
การพัฒนาและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงาน ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ผู้จัดการได้รับโอกาสสู่การทำงานในระดับที่สูงขึ้นได้ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในธุรกิจเล็กๆ แห่งใหม่ของผู้บริหารเลยก็ว่าได้ ซึ่งทั้งหมดก็มาจากการวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสม และการชนะศึกสงครามโดยได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุดนั่นเอง
เปลี่ยนจากผู้สนับสนุน สู่ ผู้นำ
หลายๆ ครั้งที่การทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่หลากหลาย อาจนำมาซึ่งประสบการณ์ทำงานที่ไม่น่าจดจำ โดยเฉพาะในระดับผู้จัดการ การที่เห็นลูกน้องมีหนทางในการทำงานที่ดีกว่า แล้วไม่ยอมปล่อยก็อาจทำให้เกิดปัญหาภายในทีมได้ ฉะนั้นแล้วการเป็นผู้จัดการที่ดี ก็ต้องเริ่มจากการสนับสนุนให้ทีมงานของตัวเอง ได้รับโอกาสที่ดีในการทำงาน รวมทั้งโปรโมตไปสู่ตำแหน่งงานที่โตขึ้นด้วย
และในฐานะของผู้สนับสนุนที่ผลักดันมาโดยตลอด ก็ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมาเป็นการบริหารพนักงานจำนวนมากๆ ได้เช่นเดียวกัน โดยประสบการณ์นี้ก็สามารถที่จะฝึกฝนได้จากตำแหน่งงานอย่างผู้จัดการนั่นเอง ฉะนั้นแล้วหากเห็นว่าลูกน้องคนไหนมีฝีมือ หรือมีคุณภาพ ก็ต้องให้เขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้ามากที่สุดด้วย เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเป็นผู้นำ
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ใครที่กำลังรับหน้าที่ในการคุมบังเหียนระดับผู้จัดการอยู่ ก็อย่าลืมเก็บเกี่ยวประสบการณ์และหาช่องทางศึกษาการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อโอกาสในวันหน้าที่จะไปสู่ระดับ ‘ผู้นำ’ ขององค์กรนั่นเอง
Ref. https://hbr.org/2012/06/how-managers-become-leaders