ตอบไงดีเมื่อเจอประโยคนี้ “แนะนำตัวเองให้เรารู้จักตัวคุณมากขึ้น” ในการสัมภาษณ์งาน
หนึ่งในประโยคคำถามยอดนิยมที่มักเจอในการสัมภาษณ์งานอย่าง “ลองแนะนำตัวเอง” หรือ “แนะนำตัวคุณเองให้เรารู้จักมากขึ้นหน่อย” ซึ่งคำถามที่ดูเหมือนจะง่ายนี้ กลับทำให้หลายคนไม่ผ่านการสัมภาษณ์งานกันมามากมายเลยทีเดียว
แน่นอนว่าคำถามที่ดูเปิดกว้าง และสามารถ “เล่าเรื่องอะไรก็ได้” ที่เกี่ยวกับตัวผู้มาสัมภาษณ์งานนั้น ดูธรรมดา และไม่มีอะไรให้น่ากดดัน แต่ทว่า เรื่องที่จะเล่าออกไปจริงๆ ควรจะเป็นเรื่องอะไรกันแน่ ระหว่าง
- เรื่องชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มจนเรียนจบ ?
- ประวัติการทำงานที่ผ่านมา ?
- หนังเรื่องโปรด และงานอดิเรกที่ชอบทำ ?
- งานล่าสุด เพื่อนร่วมงาน และหัวหน้า ในที่ทำงานเก่า ?
หากจะต้องเลือกมาพูดสักเรื่อง เรื่องไหนจะน่าสนใจกว่ากัน หรือว่าเรื่องไหนจะตรงจุดโฟกัสของผู้ฟัง จนทำให้ได้งาน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตัดสินใจได้ เพราะหากจะเล่าทุกเรื่องที่กล่าวมา ก็คงจะดูกว้างและนานจนไม่น่าสนใจได้เหมือนกัน
แท้จริงแล้ว นายจ้างหรือผู้สัมภาษณ์เองก็ต้องการที่จะให้คุณพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ การทำงาน ที่จะช่วยให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้นว่า ตัวผู้มาสัมภาษณ์นั้นจะช่วยเติมเต็มในตำแหน่งงานที่ขาดหายไปได้จริงๆ หรือไม่ และมีประโยชน์ต่อองค์กรมากน้อยเพียงใดนั่นเอง
คำตอบต้องเป็นมากกว่าประวัติส่วนตัว
ข้อแรกเลยก็คือ การที่สามารถมาถึงขั้นตอนของการสัมภาษณ์งานได้นั้น แสดงว่าทางต้นสังกัดขององค์กรนั้นๆ ได้อ่านประวัติส่วนตัวคร่าวๆ ของคุณมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะทาง LinkedIn หรือบนโซเชียลออนไลน์อื่นๆ ที่คุณได้ให้ข้อมูลเอาไว้
ซึ่งนั้นก็หมายความว่า คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ยืดยาวอีกต่อไป เพราะนี่ไม่ใช่การคัดเลือกนักแสดง ตามคำบอกเล่าของ John Less ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผน ได้แนะนำว่า เมื่อเจอประโยคนี้ ให้คุณทำการบอกเล่าตัวตนของคุณ ที่มีความสำคัญ หรือมีประโยชน์กับองค์กรของเขา รวมทั้งความถนัดในด้านการทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่คุณมาสัมภาษณ์ ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดความประทับใจแรกให้เกิดขึ้นได้ทั้งสองฝ่าย
บอกให้รู้ว่าคุณมีในสิ่งที่เขาต้องการ
ก่อนอื่นเลย ให้คุณทำการบ้านกันสักหน่อย เกี่ยวกับความต้องการขององค์กรนั้นๆ ว่า “เขา” ต้องการคุณสมบัติแบบใด ในการทำงานบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อถึงเวลาที่ต้องแนะนำตัวเอง คุณก็จำเป็นที่จะต้องบอกให้เขาทราบด้วยว่า คุณ มีสิ่งทีเขาต้องการมากน้อยเพียงใด
ซึ่งในเรื่องนี้ Tammy Johns ซีอีโอจาก Strategy and Talent Corporation. ก็ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า การบอกเราตัวตนของคุณนั้น ต้องมีการนำเสนอในด้านอารมณ์ออกไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่า คุณ สนุกกับการทำงาน หรือเรียนรู้งานในตำแหน่งงานที่ผ่านมามากขนาดไหน
นอกจากนี้ก็ควรที่จะต้องบอกเล่าถึงการบริหารเวลาในการทำงาน การสร้างความสมดุลในการใช้ชีวิต เพื่อให้เห็นว่าคุณสามารถจัดการทั้งชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวได้อย่างมีสมดุล ที่สำคัญก็คือ อย่าลืมบอกเล่าถึงผลงานเด่นๆ ของคุณให้เขาได้ลองพิจารณาด้วยก็จะช่วยเพิ่มความประทับใจได้มากทีเดียว
ต้องช่วยเติมเต็มความต้องการ
ประโยคสำคัญที่คุณควรจะพูดออกไปก็คือ “ผมเป็นคนที่…” “ดิฉันเป็นคนที่…” โดยต่อท้ายด้วยสิ่งที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์เริ่มสนใจ และเก็บคุณไว้เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สำคัญ ซึ่งคำต่อท้ายอาจจะยกนิสัยส่วนตัวในการทำงาน หรือชี้นำให้เห็นความตั้งใจ และความขยันในการทำงานได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ควรที่จะใช้การโกหก หรือสร้างเรื่องราวให้ดูเกินจริงจนเกินไป เพราะคุณอาจจะตกรอบเอาได้ง่ายๆ
สำหรับใครที่ยังไม่เคยพูดในประโยคที่แนะนำไป ก็สามารถที่จะฝึกซ้อมพูดกับตัวเองได้ที่หน้ากระจก ไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้าหลังตื่นนอน หรือก่อนเข้านอน โดยให้มองตัวเอง และพูดออกไปด้วยเสียงที่ดังฟังชัดว่า “ฉันเป็นคนที่…” เช่น มีความสามารถในการทำงาน หรือ ถนัดในการทำงานเกี่ยวกับ… เป็นต้น
การพูดกับตัวเองเช่นนี้ทุกๆ วัน จะทำให้คุณรู้จักตัวตนของคุณมากขึ้น รวมทั้งยังเข้าใจในตัวเองด้วยว่า ชอบงานแบบไหน ถนัดทำอะไร หรือมีคุณสมบัติพิเศษในด้านใด และแน่นอนว่า มันจะช่วยให้คุณเล่าเรื่องตัวเองในวันสัมภาษณ์งานได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่มีสะดุดแน่นอน
เป็นตัวเองเข้าไว้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำถามนี้จะไม่ใช่คำถามที่มีคำตอบตายตัว หรือคำตอบที่บ่งบอกว่าคุณตอบออกไปแล้วจะได้งานแน่นอน เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความเป็นตัวเองในแบบของคุณ และความสำคัญในตัวคุณ ที่จะทำให้เขาไม่อาจมองข้ามคุณไปได้นั่นเอง ฉะนั้นก่อนนอนคืนนี้ อย่าลืมฝึกเล่าเรื่องของตัวเองที่หน้ากระจกดู เพราะนอกจากจะช่วยให้ตอบการสัมภาษณ์ได้สบายๆ แล้ว ยังช่วยให้คุณรู้จักตัวเองได้มากขึ้นด้วย