คุณยังเชื่ออย่างสนิทใจไหม? ว่าในโลกของการสมัครงาน ใบปริญญา คือตัวชี้ชะตาว่าประตูแห่งโอกาสจะ “เปิดให้” หรือ “ปิดใส่” ทันที
เมื่อการแข่งขัน “แย่งชิง” คนเก่งๆ ในตลาดแรงงานเข้มข้นขึ้น การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและประสบการณ์ที่ตอบโจทย์กลายเป็นความท้าทายหลัก เราก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ท้าทายความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับการศึกษาและการทำงาน ที่เรียกว่า “Skills-based Hiring” หรือการจ้างงานที่เน้นทักษะเป็นหลัก แทนที่จะดูแค่ใบปริญญา… แล้วเทรนด์นี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าวงการ recruitment ไปอย่างไร? มาดูกัน
Skills-based Hiring คืออะไร และทำไมถึงมาแรง?
Skills-based Hiring เป็นแนวทางการคัดเลือกพนักงานที่ให้ความสำคัญกับทักษะและความสามารถที่จำเป็นสำหรับงาน มากกว่าวุฒิการศึกษาหรือประสบการณ์การทำงานแบบดั้งเดิม
แนวคิดนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ที่การขาดแคลนแรงงานทำให้การแข่งขันในตลาดแรงงานยิ่งเข้มข้นขึ้น
ยกตัวอย่างในอุตสาหกรรมไอที มีการศึกษาพบว่า บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Accenture และ IBM ได้พยายามลดการพึ่งพาวุฒิการศึกษา ด้วยการ เอาคุณสมบัติด้าน “วุฒิการศึกษาออกจากการประกาศรับสมัครงาน”
- ที่ Accenture มีเพียง 43% ของตำแหน่งงานด้าน IT ที่ระบุว่าต้องมีวุฒิปริญญา
- ที่ IBM มีเพียง 29% ของตำแหน่งงานด้าน IT ที่ต้องการวุฒิปริญญา
แต่เทรนด์นี้ก็ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยภาพรวม เพราะยังมีอีกหลายบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อื่นๆ ที่ยังให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาอยู่ เช่น
- Microsoft และ Facebook ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนของตำแหน่งงานที่ต้องการวุฒิปริญญาระหว่างปี 2017 ถึง 2021
- Intel มีสัดส่วนของตำแหน่งงานที่ต้องการวุฒิปริญญาเพิ่มขึ้น
- Apple และ Google แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังมีมากกว่า 70% ของตำแหน่งงานด้าน IT ที่ต้องการวุฒิปริญญา
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า แม้ Skills-based Hiring จะเป็นเทรนด์ แต่การนำไปปฏิบัติจริงในอุตสาหกรรมยังมีความแตกต่างกัน
ทำไม Skills-based Hiring ถึงน่าสนใจ?
สำหรับบริษัท:
- เข้าถึงคนที่มีความสามารถได้มากขึ้น โดยไม่ถูกจำกัดด้วยวุฒิการศึกษา
- เพิ่มความหลากหลายในองค์กร ซึ่งนำไปสู่ไอเดียและมุมมองใหม่ๆ
- ลดต้นทุนและเวลาในการหาคนที่ใช่
สำหรับคนหางาน:
- โอกาสในการได้งานที่ดี และตรงกับความสามารถจริง ไม่ใช่แค่เพราะมีใบปริญญา
- ลดกำแพงสำหรับคนที่มีทักษะแต่ขาดวุฒิ
แล้วใบปริญญาจะหมดความหมายเลยหรือ?
คำตอบนั้นคงต้องพูดว่า “ไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว” ใบปริญญาและการศึกษาในมหาวิทยาลัยยังคงมีคุณค่า โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้ และอยู่ร่วมและการทำงานร่วมกับผู้อื่น
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ใบปริญญาอาจไม่ใช่ใบเบิกทางสู่งานดีๆ เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
ผลกระทบอื่นๆ ที่น่าสนใจ
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้แค่เปลี่ยนวิธีการรับคนเข้าทำงาน แต่ยังส่งผลกระทบในวงกว้าง:
- บริษัทต้องเริ่มคิดใหม่ว่าพวกเขาต้องการ “ทักษะ” อะไรจริงๆ จากพนักงาน และเริ่มสื่อสารสิ่งเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจนมากขึ้น
- คนหางานต้องตระหนักว่า soft skills อย่างการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการแก้ปัญหา เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ความรู้ทางเทคนิค
- สถาบันการศึกษาและบริษัทฝึกอบรม ต้องปรับและเพิ่มหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของตลาดแรงงาน
ความท้าทายของ Skills-based Hiring
การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมในตลาดแรงงาน โดยเปิดประตูให้กับคนที่มีความสามารถแต่อาจไม่มีโอกาสทางการศึกษา
แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน บริษัทต่างๆ ยังต้องทบทวนกระบวนการคัดเลือกคนของตัวเอง และอาจต้องลองผิดลองถูกก่อนจะหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด
- – ต้องพัฒนาวิธีการประเมินทักษะที่แม่นยำและยุติธรรม
- – ออกแบบการทดสอบที่สามารถวัดทักษะได้จริง
- – ปรับกระบวนการคัดกรองผู้สมัครใหม่
เตรียมพร้อมรับมือกับเทรนด์ใหม่
สำหรับคนหางาน:
- พัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเรียนออนไลน์ การฝึกงาน หรือการทำโปรเจกต์ส่วนตัว
- สร้างพอร์ตโฟลิโอที่แสดงถึงทักษะและผลงานจริง
- เรียนรู้วิธีการนำเสนอทักษะของตนเองในการสมัครงาน
สำหรับบริษัท:
- พิจารณาการนำ Skills-based Hiring มาใช้ในกระบวนการ recruitment
- ลงทุนในเครื่องมือและเทคโนโลยีสำหรับการประเมินทักษะ
- ฝึกอบรมทีม HR ให้เข้าใจและสามารถประเมินทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป
Skills-based Hiring ไม่ใช่แค่เทรนด์ชั่วคราว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อวงการ recruitment ไปอีกนาน และอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงที่หลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญอยู่
แหล่งอ้างอิง:
Harvard Business Review. (2022). Skills-Based Hiring Is on the Rise. https://hbr.org/2022/02/skills-based-hiring-is-on-the-rise