หัวหน้าที่ชอบด่าลูกน้องต่อหน้าคนอื่น ขุดเรื่องที่ลูกน้องเคยทำผิดพลาดมาพูดให้อับอายอย่างไม่มีวันจบ คือหัวหน้าที่บริหารงาน “ผิดพลาด” เช่นกัน
ทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่ใช่ความผิดซ้ำซากหรือทำผิดด้วยเจตนาร้าย การแก้ปัญหาด้วยอารมณ์จะสร้างบรรยากาศทำงานที่อึดอัด หวาดระแวงและขาดความเชื่อใจกัน จนถึงขั้น “ทีมแตก” แต่สุดท้ายปัญหาก็ไม่ได้ถูกแก้ไขอะไรเลย
แล้วควรทำอย่างไร? ลองอ่านข้อคิดสั้นๆ จากประสบการณ์จริงของพนักงานชาวอเมริกันท่านหนึ่งที่โพสไว้ตามนี้
เมื่อวันก่อน…ฉันมีโอกาสสูญเสียงานเพราะทำงานผิดพลาดครั้งใหญ่กับงานใหม่ของฉันเป็นครั้งแรก แต่…ฉันก็มีโอกาสได้เรียนรู้ความยอดเยี่ยมในการจัดการเรื่องนี้ของหัวหน้าฉันเช่นกัน
และนี่คือสิ่งที่เขาทำ
– เข้ามาคุยกับฉันเป็นการส่วนตัว
– เข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อส่ิงที่ฉันทำผิดพลาด
– เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่คนอื่นๆ เคยทำพลาดแบบเดียวกัน
– ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความผิดพลาดของงานที่จะไปกระทบกับงานสำคัญส่วนอื่นๆ
– ให้คำแนะนำที่ดีมากๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดนี้อีกในอนาคต
และสิ่งที่ดีที่สุดในวันนั้นก็คือ… เขาปล่อยให้มันจบแค่นั้น
มันไม่ได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับหัวหน้า มันไม่ได้ทำลายฉัน และมันก็ไม่ได้ทำลายเขาด้วยเช่นกัน
หากคุณต้องจัดการกับความผิดพลาดของทีม โปรดยึดสิ่งเหล่านี้ไว้
“จงหนักแน่น แต่เห็นอกเห็นใจ”
“แนะนำหนทางแก้ไข แล้วปล่อยให้เรื่องมันผ่านไป”
เพราะทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาด เมื่อมันเกิดขึ้นก็แค่จัดการกับมัน จากนั้นก็ก้าวต่อไป
ติดตามเรื่องราวของโลกธุรกิจ ผ่านมุมมองของ HR ได้ที่
https://web.facebook.com/prtr.thailand/