Skip links

มนุษย์ทำงานที่ดี ไม่ควรมี”นิสัยชอบแก้ตัว”

คุณเป็นคนที่ชอบมีข้ออ้าง คำแก้ตัวตลอดเวลามั้ย?
ถ้าใช่แล้วคุณจะต้องตกใจแน่ๆ ว่าคำแก้ตัวต่างๆ
ที่คุณใช้นั้นสามารถบ่งบอกเกี่ยวกับตัวคุณให้คนอื่นรู้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ในทุกครั้งที่มีการแก้ตัวหรือข้ออ้างเกิดขึ้น ล้วนแล้วเป็นการแก้ตัวหรืออ้างเพื่อให้ตัวเองหลุดหรือหนีออกจากความอึดอัดหรือสถานการณ์นั้นๆ ออกไป และเมื่อการแก้ตัวกับการอ้างนั้นทำให้รอดตัวออกไปได้มากขึ้น เรายิ่งรู้สึกโอเคหรือรู้สึกว่าที่เราทำไปนั้นถูกต้องมากขึ้นจนเราติดและทำไปโดยอัตโนมัติ

การจะทำให้การแก้ตัวหรือการหาข้ออ้างต่างๆ ลดน้อยลงหรือหยุดให้ได้นั้นเราต้องเข้าใจรูปแบบของข้อแก้ตัวต่างๆ ก่อน

 

 

1. #ขอโทษทีที่มาสาย
ชีวิตที่ต้องเผชิญรถติดอยู่ตลอดอย่างคนกรุงเทพฯ
การแก้ตัว อย่างเช่น ฝนตก รถติด ไม่ค่อยสบาย เพื่อเป็นข้ออ้างของการมาสายนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องที่ฟังไม่ค่อยขึ้น
เพราะหลายๆ คนแม้จะมีชีวิตที่ยุ่งวุ่นวายขนาดไหนก็ยังตื่นมาทำงานกันได้ทันเวลา
การมาสายนั้นบ่งบอกถึงการไม่ให้ความสำคัญกับคนที่รอ
หรือความรับผิดชอบในหน้าที่การงานอีกด้วยนะคะ
หากเราเป็นอยู่คนเดียวที่ไปสายตลอด
ก็ควรหาวิธีแก้ก่อนที่จะมีผลเสียต่อหน้าที่การงานอนาคตของเราดีกันกว่าค่ะ

ศาสตราจารย์ Maria Baratta ผู้ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์
พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ ที่ได้เข้ามาปรึกษากับเธอนั้น
มักจะถามถึงวิธีแก้ไขปัญหาการไปสาย เกือบทุกคน!
เธอจึงแนะนำผู้คนเหล่านั้นโดยใช้ 3 วิธีง่ายๆ
– อย่าประมาณเวลาไว้ให้พอดี บางอย่างอาจใช้เวลามากกว่าที่เราคิด
– การนอนไม่เพียงพอส่งผลต่อ “อาการเตียงดูด”
ทำให้ตื่นมาหมดแรงและทำอะไรช้ากว่าคนที่นอนเพียงพอ
– สถานที่และคนมีผลต่อการไปสาย เราเบื่องานที่ทำปัจจุบันแล้วหรือเปล่า?
หรือคนที่นัดไว้มีความสำคัญต่อเรามากแค่ไหนนั่นเองค่ะ

 

 

2. #เรายุ่งมาก
เราทุกคนต่างก็ต้องมีความยุ่งหรืองานเยอะจนไม่มีเวลาทำอะไรเลย นั่นแปลว่าคุณต้องจัดลำดับเวลาและงานใหม่ แต่สำหรับบางคนที่ยุ่งอยู่ตลอดเวลามันเป็นการแสดงออกแบบทางอ้อมให้คนอื่นๆ เข้าใจว่าเขาไม่ต้องการอยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกัน หรือคุณกำลังบอกกับหลายๆ คนว่าคุณยุ่งมากจนคุณไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ในขณะที่คนอื่นๆ สามารถหาเวลาเพื่อผ่อนคลายสังสรรค์ ในปัจจุบันไม่มีใครชื่นชอบคนที่ยุ่งตลอดเวลาแล้ว เพราะสมัยนี้ทุกคนมองหาความสมดุลการใช้ชีวิตกับการทำงานทั้งนั้น

แน่นอนว่า การที่เรายุ่งมาก นั้นไม่ได้แปลว่ายุ่งจริงๆ
แต่เป็นเพียงคำปฏิเสธเพื่อให้เรารู้สึกดีขึ้น
เช่น เพื่อนร่วมงานขอความช่วยเหลือ แต่เราปฏิเสธไป
ให้เรามองในอีกมุม ถ้ากลายเป็นเราที่ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นแทนดู
เพราะงานนั้นมากเกินไปหรือคิดงานไม่ออกจริงๆ
การช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็เป็นอีกทางหนึ่ง
ที่ช่วยให้ชีวิตเราและคนรอบข้างมีความสุขขึ้นได้เยอะทีเดียวค่ะ

 

 

3. #เรายังเก่งไม่พอ
ในบางช่วงจังหวะเราทุกคนต่างก็เคยรู้สึกแบบนี้มาแล้ว แต่สำหรับบางคนใช้ข้อแก้ตัวนี้เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ หากคุณรู้สึกว่างานที่กำลังจะได้ทำในใจคุณกำลังร้องว่าเราทำไม่ไหวแน่ๆ เรายังไม่เก่งขนาดนั้น มันแปลว่าเรายังพัฒนาฝีมือได้

ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่างานยากเกินไปหรือว่ารู้สึกไม่อยากทำงานชิ้นนั้น ให้เราเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้พัฒนาฝีมือ เรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อนำมาเป็นประโยชน์กับงานชิ้นนั้น และพิสูจน์ให้องค์กรเห็นว่าเรานั้นก็มีดีเหมือนกัน

 

 

4. #เดี๋ยวค่อยทำ
เป็นข้ออ้างที่นิยมที่สุดเพื่อผลัดมันออกไปเรื่อยๆ ข้ออ้างนี้ไม่ช่วยให้เราทำงานเสร็จ แถมยังทำให้เราเริ่มอะไรใหม่ๆ หรือทำงานอะไรสายขึ้น หรือแย่สุดคือไม่ทันแล้วนั่นเอง

ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา Timothy Pychyl ได้แนะนำวิธีแก้ไขนิสัย ‘ผลัดวันประกันพรุ่ง’ ไว้ว่า
-ประมาณงานที่ต้องทำนั้นใช้เวลาเท่าไหร่ 
-ให้คิดเสมอว่าถ้างานเสร็จแล้วจะทำให้เราสบายในอนาคต
-กำหนดบทลงโทษตัวเองหากงานนั้นล่าช้า
-ให้รางวัลตัวเองเป็นระยะเมื่อทำงานเสร็จในแต่ละส่วน

#สุดท้าย เริ่มจากทำความเข้าใจก่อนว่าคำแก้ตัวหรือข้ออ้างนั้นมาจากอะไร? มาจากความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้? หรือเราเผลอตั้งเป้าที่ยากมากที่จะสำเร็จ? เมื่อรู้ว่ามาจากไหนแล้วก็ตระหนักว่าเมื่อไหร่ที่จะเริ่มใช้คำแก้ตัวกับข้ออ้างแล้วเราจะเข้าใจมากขึ้นว่าเรามีข้อบกพร่องตรงไหน เพื่อพัฒนาตัวเราให้ดียิ่งขึ้นและทำงานร่วมกับคนรอบข้างได้อย่างมีความสุขค่ะ

 

Top