ใครกำลังเหนื่อยใจ ขอให้ยกมือขึ้น
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเจอปัญหาเช่นนี้มาบ้าง
อุตส่าห์ผ่านด่านการสัมภาษณ์ ได้เข้าไปทำงานแล้วเชียว
แต่ดันกลับกลายเป็นว่า ไม่สามารถเข้ากันได้กับเจ้านาย หัวหน้างาน หรือผู้จัดการไปเสียนี่
เรื่องมันเศร้า… เล่าไปก็เจ็บ
ปัญหานี้เรียกได้ว่าเป็นปัญหาโลก(ออฟฟิศ)แตกกันเลยทีเดียว
เพราะมันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน “อย่างมาก!”
และแน่นอนว่าคงอยู่กันไม่ยืด ไม่ช้าก็เร็ว เราคงต้องจบกัน :’(
แต่ก็นะคะ ใช่ว่าผู้จัดการทุกคนจะต้องเป็นคนไม่ดี หรือเป็นคนที่เข้ากับลูกน้องได้ยากเสมอไป
เราลองมาดู 12 ข้อช่วยคิดตั้งแต่ช่วงสัมภาษณ์งานกันเลยดีกว่า
ว่าผู้จัดการคนที่กำลังสัมภาษณ์งานคุณอยู่นี้ จะดีสำหรับคุณจริงๆ หรือไม่
-
#การโต้ตอบหรือพูดคุยกันก่อนวันสัมภาษณ์งาน
ถ้ามีโอกาสได้พูดคุยกันผ่านทางโทรศัพท์ก่อนวันสัมภาษณ์ ลองสังเกตดูว่าการพูดคุยนั้นเป็นอย่างไร บุคลิก โทนน้ำเสียง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้ามาสัมภาษณ์ได้มากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่การโต้ตอบกลับทางอีเมลล์ก็ช่วยให้คุณรับรู้ได้ถึงความใส่ใจได้เบาๆ อีกทางหนึ่งค่ะ
-
#ประทับใจมั้ยกับการเจอกันครั้งแรก?
เมื่อถึงวันสัมภาษณ์จริง เวลาที่คุณได้เจอกับผู้จัดการฝ่ายที่คุณกำลังจะเข้ารับการสัมภาษณ์ แล้วคุณรู้สึกอย่างไร ลองใช้ประสบการณ์ในการพบเจอผู้คนของคุณมาพิจารณาดู อาจจะรู้ว่าเราเข้ากันได้ไหมในระดับหนึ่ง
-
#ใส่ใจกันบ้างไหมที่ทำให้รอ
ในกรณีที่คุณต้องนั่งรอเพื่อเรียกสัมภาษณ์เป็นเวลานานๆ คุณได้รับการกล่าวขอโทษที่ทำให้คุณรอหรือไม่ หรือแม้แต่ช่วงระหว่างที่รอ มีการเข้ามาแนะนำตัวหรืออำนวยความสะดวกใดๆ ให้บ้างรึเปล่า?
-
#เข้าใจในงานคุณดีจริงหรือไม่อธิบายได้ครบถ้วนหรือเปล่า?
ระหว่างที่สัมภาษณ์งาน แน่นอนว่าเขาต้องบอกคุณด้วยว่า บทบาทหน้าที่ในการทำงานของคุณนั้นเป็นอย่างไร และมีสิ่งที่คุณควรทราบก่อนเริ่มงานเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ ถ้าเขาบอกคุณได้อย่างครบถ้วนแล้ล่ะก็ ถือได้ว่าผู้จัดการคนนี้จะเป็นคนที่เอาใจใส่คุณ และงานของคุณอย่างแน่นอน
-
#ภาษากายก็สำคัญอย่าลืมสังเกต
นอกจากการพูดคุยสื่อสารแล้ว ภาษากายที่แสดงออกมาเป็นอย่างไรบ้าง
เขาสบตา ยิ้มแย้ม เคร่งขรึม หรือวางท่าทีแบบคนกุมอำนาจอยู่ตลอดเวลาหรือไม่
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วล่ะก็ หึหึ ขอให้คุณโชคดีค่ะ
-
#สนใจในประสบการณ์หรือเรื่องราวของคุณมากแค่ไหน ?
ถ้าหากเขาดูสนใจในเรื่องของประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาของคุณ หรือพยายามซักถามเกี่ยวกับชีวิตและมุมมองของคุณ แสดงว่าเขามีความเป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณได้
แต่ถ้าหากเขาแสดงท่าทีเบื่อหน่าย หรือไม่ได้สนใจความเป็นมาของคุณล่ะก็ คุณคงหาแรงบันดาลใจหรือแรงกระตุ้นจากเขาไม่ได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน
-
#ถามคนในดูเลยดีกว่า
ข้อนี้จะค่อนข้างเหมาะกับคนที่มีคนรู้จักทำงาน หรือเคยทำงานอยู่ในบริษัทที่คุณกำลังจะไปสัมภาษณ์งาน เพราะคุณสามารถที่จะสอบถามประวัติและนิสัยใจคอของผู้จัดการที่ต้องสัมภาษณ์คุณได้ ช่วยให้เตรียมตัวเตรียมใจได้ดียิ่งขึ้น
-
#เปิดเผยความลับหรือข้อบกพร่องในองค์กรหรือไม่ ?
ถ้าระหว่างสัมภาษณ์นั้น ผู้จัดการที่สัมภาษณ์คุณได้พูดถึงความผิดพลาดในการทำงาน หรือข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในองค์กร หรือบริษัทแล้วล่ะก็ อาจเป็นไปได้ว่าเขากำลังจะโบกมืออำลาตำแหน่งได้ในเร็วๆ นี้
-
#ใช้คำถามและต้องการคำตอบแบบสูตรสำเร็จหรือไม่ ?
การถามคำถามแบบเชิงลึกนั้น ไม่จำเป็นว่าคำตอบมันจะต้องออกมาในรูปแบบของสูตรสำเร็จเสมอไป ถ้าหากว่าการตอบคำถามเชิงลึกของคุณทำให้ผู้จัดการสนใจ และถามไปอีกได้ แสดงว่าเขาสนใจในตัวคุณจริงๆ แต่ถ้าหากว่าเขาต้องการคำตอบที่เป็นแบบสูตรสำเร็จจริงๆ แน่นอนว่าคุณคงจะไม่ได้รับคำถามหรือคำแนะนำใดๆ ต่อ จนจบการสัมภาษณ์แน่นอน
-
#ลองตั้งคำถามเกี่ยวกับการบริหารจัดการดูสิ
เมื่อถึงจุดที่ผู้สัมภาษณ์ให้โอกาสคุณตั้งคำถาม ให้คุณลองตั้งคำถามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ หรือการทำงานกลับไปดู อย่างเช่น “การแบ่งหน้าที่ในทีมนั้นมีใครทำอะไรบ้าง?” เป็นต้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องถามเยอะ และอย่าพยายามเจาะลึกมากเกินไป
-
#สนใจฟังคำตอบและตั้งคำถามอย่างใส่ใจหรือไม่ ?
ระหว่างการสัมภาษณ์งาน เขามีท่าทีว่าสนใจโทรศัพท์มากกว่าคุณหรือไม่ หรือมีการหยุดชะงักเพื่อตอบไลน์รึเปล่า เพราะมันบ่งบอกถึงความใส่ใจที่มีในตัวคุณได้เลยนะ
-
#บทสรุปของการสัมภาษณ์งานเป็นอย่างไร ?
เมื่อถึงบทสรุปของการสัมภาษณ์แล้ว คุณรู้สึกว่าตัวเองได้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานนั้นๆ กลับไปอย่างไรบ้าง รวมทั้งคุณมีข้อสงสัยในเรื่องของ เงินเดือน บทบาทในการทำงาน และอื่นๆ หรือไม่ ถ้าหากไม่ ก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะคุณมีโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับผู้จัดการในอุดมคติของคุณแล้วล่ะค่ะ
ลองนำทั้ง 12 ข้อนี้ ไปใช้ช่วยประกอบการพิจารณาดูว่า ผู้จัดการในอนาคตของคุณจะเป็นคนที่ใช่หรือไม่ใช่กันนะ ส่วนจะได้ผลมากน้อยขนาดไหน ก็อย่าลืมมาแชร์ให้เพื่อนๆ ทราบกันด้วยนะคะ