Skip links

ต้องรอด! วิธีรับมือสถานการณ์ จับโกหก ที่คน ๆ นั้นอาจเป็นหัวหน้าคุณ

ถ้าคุณเจอสถานการณ์ที่คาดว่าอาจกำลังเจอกับผู้ที่กำลังพูดโกหก หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงอยู่ และคน ๆ นั้นก็คือ “หัวหน้าของคุณ” แล้วจะมีวิธีแบบไหนที่สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นได้ดีที่สุดกันล่ะ ?

คำตอบก็คือ เมื่อคุณกำลังสงสัยว่าหัวหน้าของคุณกำลังพูดสิ่งที่ไม่เป็นความจริง หรือเบี่ยงประเด็น ซึ่งถ้ามันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขั้นเป็นอาชญกรรมได้ แนะนำว่าคุณควรถามคำถามที่ช่วยให้เกิดคำอธิบายเพิ่มมากขึ้น เช่น “ขอโทษนะครับ/ค่ะ… ช่วยอธิบายเรื่องนี้อีกครั้งได้มั้ย” หรือ “หัวหน้าครับ/ค่ะ ผมยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ครับ รบกวนแนะนำหรืออธิบายยอีกสักครั้งนะครับ/ค่ะ” 

การตั้งคำถามที่บ่งบอกถึงความไม่แน่ใจ หรือไม่ทันเกมส์ของคุณ จะช่วยให้ความลับ หรือข้อมูลบางอย่างที่ถูกปิดบังจากการโกหก ค่อยๆ รั่วไหลออกมาได้ง่ายขึ้น หรืออย่างน้อยคุณก็จะเห็นได้ชัดขึ้นว่า หัวหน้ากำลังพูดโกหกอยู่จริงๆ หรือไม่

การโกหกคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ แต่… หลายครั้งการโกหกก็ช่วยให้คนเรารอดพ้นจากความพังพินาศในหลายๆ เรื่องได้เหมือนกัน ซึ่งหัวหน้าคุณอาจมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ต้องหลีกเลี่ยงในการพูดความจริงออกไปตรง ๆ ก็เป็นได้

ต่อไปนี้คือวิธีจับโกหก เมื่อรู้สึกว่าเรื่องที่ฟังอยู่มันไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงๆ เพื่อให้เราสามารถคาดการณ์กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น 

เริ่มจากพฤติกรรมพื้นฐาน

อย่างแรกเลยก็คือเรื่องของพฤติกรรมการแสดงออก เพราะแน่นอนว่าหากเป็นคนที่โกหกไม่เนียน พฤติกรรมในการพูด การคุย หรือท่าทางจะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง และท่าทาง ซึ่งพฤติกรรมพื้นฐานนั้นก็แบ่งได้เป็นสองประเภท คือ

1. ภาษากาย

เป็นเรื่องเบสิคที่สุด แต่ก็จับผิดได้ง่ายที่สุด เพราะภาษากายของคนที่กำลังพูดโกหกนั้นมักจะแตกต่าง หรือมีท่าทีผิดปกติแสดงออกมา ลองมาดูภาษากายที่ว่ากันว่าคือท่าทางของคนพูดโกหกกัน

การกระพริบตา เป็นจุดที่สังเกตได้ง่ายที่สุดเวลาที่คนเราเปลี่ยนความคิดหรือการกระทำ เช่น การกระพริบตาถี่หรือรัวจนเกินไป ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนเเปลงไปของเเต่ละคน

รอยยิ้ม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการยิ้มในขณะที่พูดนั้น หากเป็นยิ้มแบบจริงใจ จะต้องมีการย่นลงมาของหางตา แต่ถ้าหากยิ้มปลอมๆ หรือกำลังโกหกแล้วล่ะก็ จะยิ้มเพียงแค่ริมฝีปากเท่านั้น

การจับจมูก ในช่วงเวลาของการโกหก คนส่วนใหญ่มักจะมีการหลั่งสารบางชนิดที่ทำให้เลือดสูบฉีดมากขึ้น รวมทั้งเส้นเลือดฝอยที่บริเวณจมูกด้วย ทำให้มักจะจับ เกา บีบ อยู่บ่อยๆ ในระหว่างโกหก

การขยับท่าทาง เห็นได้ชัดเลยว่า เวลาที่กำลังโกหกนั้นท่าทางจะมีเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับผม, จับเครื่องประดับตามตัว หรือแม้แต่การกัดริมฝีปาก

การขยับเท้า เท้าของคนที่กำลังโกหกมักจะเคลื่อนไหวไปมา ไม่ว่าจะหมุนวนรอบๆ เก้าอี้ หรือบิดซ้ายขวาก็ตาม

ม่านตาขยาย เมื่อโกหก เรามักจะไม่รู้ตัวว่ารู้ม่านตามีการขยาย บางครั้งก็เห็นได้ชัดว่าตาดูโตและเบิกกว้างมากขึ้น

2. ภาษาพูด

นอกจากท่าทางแล้ว ภาษาพูดและลักษณะในการพูดก็เป็นตัวบ่งบอกได้อีกเหมือนกันว่า เป็นการโกหกอยู่ใช่หรือไม่ ซึ่งหลักๆ แล้วสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังพูดโกหกอยู่ จากภาษาพูด ได้แก่

เปลี่ยนเรื่องเร็ว เมื่อกำลังพูดโกหก ผู้พูดมักอยากที่จะจบเรื่องนั้นให้เร็วที่สุด ซึ่งบางครั้งก็ตัดบทเอาแบบดื้อๆ หรือเมื่อมีคนถาม ก็ตอบเพียงสั้นๆ แล้วเปลี่ยนเรื่องในทันที 

เสียงสู๊ง สัญญาณนี้ส่วนใหญ่หลายคนคงทราบกันอยู่แล้ว เพราะการพูดโกหกส่วนมากจะใช้เสียงสู๊งงสูง 

พูดวกวน หรือติดอ่าง ถ้าหากว่าปกติแล้วไม่เคยมีอาการติดอ่าง หรือพูดซ้ำซ้อน วนไปมา ก็แสดงว่าเขากำลังโกหกอยู่แล้วล่ะ

ตอบสนองต่อคำถามช้าลง เมื่อเริ่มมีคนสงสัย หรือตั้งคำถามขึ้น ผู้ที่กำลังโกหกส่วนใหญ่แล้วจะตั้งตัวไม่ทัน ทำให้ตอบคำถามได้ช้า หรือใช้เวลาคิดนาน

ทวนคำถามซ้ำ หากว่ามีการถามคำถามขึ้น แล้วผู้ถูกถามมีการทวนคำถามไปมาอีกครั้งหรือสองครั้ง ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะกำลังพูดเรื่องที่เป็นเท็จอยู่

ตอบแบบลังเล ในขณะที่กำลังตอบคำถาม หากว่ามีการโกหกเกิดขึ้น ผู้ตอบก็มักที่จะใช้คำตอบที่หลีกเลี่ยงการถูกจับผิดอย่าง “คิดว่า….” “น่าจะ…” “เท่าที่รู้มา….” เป็นต้น

ตอบให้ดูน่าเชื่อถือ คล้ายกับการตอบด้วยคำที่ดูลังเล แต่กรณีนี้จะใช้คำที่ดูหนักแน่นน่าเชื่อถือเข้าไปแทนอย่างเช่น “เอาจริงๆ เลยนะ…” “บอกตามตรง…” “พูดจริงๆ เลย…” เป็นต้น

Top